fbpx

พอดีว่าช่วงนี้ ในแวดวงโซล่าเซลล์ เห็นมีการติดตั้งระบบไฮบริด ซึ่งก็มีแบตเตอรี่เข้ามาเพิ่มในระบบ แล้วก็เห็นใน youtube หลายๆช่อง พูดหน่วยความจุของแบตเตอรี่ เป็น kW. (กิโลวัตต์ เฉยๆ) จริงๆแล้ว หน่วยต้องเป็นคำว่า kWh จะอ่านว่า กิโลวัตต์-เอาวเออร์ หรือ กิโลวัตต์-ชั่วโมง ก็ไม่ว่ากัน เพราะ ความหมายไม่เปลี่ยน  แต่หากเขียน หน่วยของความจุแบตเตอรี่ เป็น กิโลวัตต์ อันนี้คือความหมายผิดไปเลย  แล้วก็จะทำให้ผู้ฟัง หรือผู้อ่านสับสน งงงวย ไปกันใหญ่ 

วันนี้เลยทนความหงุดหงิด ไม่ไหว เลยขออธิบาย ของคำว่า kW. และ kWh.

ให้หายคาใจกันไปเลย...มาตามไปดูกัน...

ดูความหมายแบบย่อๆ ก่อน

si unit
♦ วัตต์  ( Watt ) : W : คือหน่วยของ กำลังไฟฟ้า 

♦ กิโลวัตต์ ( Kilowatt : KW )คือหน่วยของ กำลังไฟฟ้าที่มีค่าเท่ากับ 1,000 W

♦ เมกกะวัตต์ (Megawatt : MW)คือหน่วยของ กำลังไฟฟ้าที่มีค่าเท่ากับ 1,000 KW หรือ 1,000,000 W

♦ กิโลวัตต์-อาว์เออร์  หรือกิโลวัตต์-ชั่วโมง (KW-hour : KW-h) คือหน่วยของการคิดค่าพลังงานไฟฟ้า 

♦ ยูนิต(Unit) หรือหน่วย ก็คือหน่วยของค่าไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฯ เก็บค่าไฟที่บ้านเรา นั่นแหละครับ ซึ่งจริงๆแล้วก็คือ กิโลวัตต์-อาว์เออร์  หรือกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ KW-hour หรือ KW-h นั่นเอง >>> ที่ตอนนี้ขึ้นค่า ft จาก หน่วยละ ยี่สิบกว่าสตางค์ เป็น หน่วยละ 93สตางค์ นั่นแหล่ะ

 

 

 

 สูตร

♦ พลังงานไฟฟ้า (ยูนิต หรือ KW-hour) = กำลังไฟฟ้า (KW) X เวลา (ชั่วโมง)

♦ หรือ ถ้าคิดกำลังไฟฟ้าหน่วยเป็นวัตต์ (W) ก็เอา 1,000 ไปหาร จะได้  พลังงานไฟฟ้า (ยูนิต หรือ KW-hour) = กำลังไฟฟ้า (W) X เวลา (ชั่วโมง) / 1,000

 

ตัวอย่างการคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้า

♦ ตัวอย่าง 1 พัดลมตั้งพื้นขนาด 16” ใช้กำลังไฟฟ้า 65 W เปิดยาวนานต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง => จะใช้ พลังงานไฟฟ้า = 65 x 10 / 1,000 = 0.65 ยูนิต (หน่วย)  หรือ 0.65 kWh.

♦ ตัวอย่าง 2 เตารีดไอน้ำขนาดใหญ่ ใช้กำลังไฟฟ้า 1,800 W (1.8KW) ใช้งาน 2 ชั่วโมง => จะใช้พลังงานไฟฟ้า = 1,800 x 2 / 1,000 = 3.6 ยูนิต (หน่วย)  หรือ 3.6 kWh.

♦ ตัวอย่าง 3 แอร์ 12,000 BTU ใช้กำลังไฟฟ้า 1,100 W (1 KW) เปิดยาวนานต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง => จะใช้พลังงานไฟฟ้า = 1,100 x 10 / 1,000 = 11 ยูนิต (หน่วย)  หรือ 11 kWh.

♦ ตัวอย่าง 4 TV LED 40 นิ้ว ใช้กำลังไฟฟ้า 90 W (0.09 KW) ใช้งาน 12 ชั่วโมง => จะใช้พลังงานไฟฟ้า = 90 x 12 / 1,000 = 1.08 ยูนิต (หน่วย)  หรือ 1.08 kWh.

 

ตัวอย่างการคำนวณค่าไฟฟ้า 

ลองมาคำนวณค่าไฟฟ้าจากจำนวนพลังงานไฟฟ้าตามตัวอย่างข้างต้น โดยตั้งสมมติฐานว่าบ้านเราใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน 

bill electric 2

 

จากตัวอย่าง 1 พัดลม ใช้พลังงานไฟฟ้า 0.65 ยูนิต (เปิดพัดลม 10 ช.ม.) จะเสียค่าไฟฟ้า = 0.65 x 3.2484 = 1.78662 บาท

 

จากตัวอย่าง 2 เตารีดไอน้ำ ใช้พลังงานไฟฟ้า 3.6 ยูนิต (รีดผ้านาน 2 ช.ม.) จะเสียค่าไฟฟ้า = 3.6 x 3.2484 = 11.69424 บาท

 

จากตัวอย่าง 3 แอร์ ใช้พลังงานไฟฟ้า 11 ยูนิต(เปิดแอร์ 10 ช.ม.) จะเสียค่าไฟฟ้า = 11 x 3.2484 = 35.7324 บาท

 

จากตัวอย่าง 4 TV LED 40 นิ้ว ใช้พลังงานไฟฟ้า 1.08 ยูนิต (เปิดTV 12 ช.ม.) จะเสียค่าไฟฟ้า = 1.08 x 3.2484 = 3.5 บาท

 *การคำนวณค่าไฟฟ้า ข้างต้น ยังไม่ได้รวม ค่า FT และ VAT 

 

 

 

ความหมายของ กำลังไฟฟ้า และ พลังงานไฟฟ้า อย่างละเอียด

power watts0 2 sum2

 

กำลังไฟฟ้า Power : W และ kW. จากรูปด้านบน คือการอธิบาย ด้วยรูป กล่าวคือ กำลังไฟฟ้า คือการใช้งานของโหลดหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ณ ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการกินกำลังไฟฟ้าก็จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้า จากแผงโซล่าเซลล์ ดังรูปกราฟด้านบน ที่การผลิตกำลังไฟฟ้า เปลี่ยนแปลงเป็นเสี้ยววินาที ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ตามกราฟก็คือการสุ่มข้อมูลมาแสดง ในราย 30วินาที , 1นาที , 3นาที , 5 นาที , 10นาที , 15นาที เป็นต้น  ซึ่งก็คือค่ากำลังไฟฟ้า W. หรือ kW. นั่นเอง >>> ของ กฟภ. ก็จะสุ่มค่าทุก 15 นาที

          อีกซักตัวอย่าง เมื่อเราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท มอเตอร์ เช่น พัดลม ปั๊มน้ำ แอร์ (มีคอมเพรสเซอร์) ตอนเปิดใหม่ๆ เครื่องเริ่มทำงานจะกินกำลังไฟฟ้ามากกว่าตอนรันปกติ เป็นหลายเท่าตัวแค่เสี้ยววินาที เช่น เปิดแอร์ 1 ตัน (ตอนปติจะกินไฟฟ้าประมาณ 1,000 W.) ตอนสตาร์ท คอมเพรสเซอร์แอร์กินไฟไป 3 เท่า เป็น 3,000 W. ในช่วงแค่เสี้ยววินาที (ไม่ถึง1 วินาที) หลังจากนั้นก็จะมากินไฟแบบปกติ ประมาณ 1,000 W. (เราเรียกช่วงนี้ว่า Power Consumsion : การบริโภคพลังงาน)

          แต่หากเป็น พวกมอเตอร์ขนาดใหญ่ๆ 5แรงม้า (1แรงม้า = 746 W.) อาจกินกำลังไฟฟ้ากระชาก ตอนแรกมากถึง 5 เท่าก็เป็นได้  >>> ตรงนี้เป็นไฮไลท์ ที่จะอธิบายว่า ระบบไฮบริด อ๊อฟกริด (สภาวะที่ไม่มี ไฟกริด ของการไฟฟ้าฯ ) เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือโหลดที่นำมาต่อช่วงแบ็คอัพ ต้องกินไฟไม่เกินจากที่ (รวมไฟตอนกระชาก) ตัวอินเวอร์เตอร์ไฮบริด และ แบตเตอรี่ ต้องรองรับได้  หากเกินกว่าที่ อินเวอร์เตอร์ไฮบริด และ แบตเตอรี่รับได้ก็จะทำให้พังหรืออายุการใช้งานสั้นกว่าปกติ

 

พลังงานไฟฟ้า Energy : kWh. คือการนำเอากำลังไฟฟ้า คูณ เวลา (ชั่วโมง) จึงมีหน่วยเป็น กิโลวัตต์-ชั่วโมง 

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ จะเห็นว่า อุปกรณ์ที่เป็นแหล่งจ่ายพลังงาน จะมีหน่วยเป็น kWh เช่น แบตเตอรี่ เป็นต้น (กว่าจะโยงมาเข้าแบตเตอรี่ได้ ไหลไปอื่นซะยาวเลย) 

แบตเตอรี่ มีความจุ 5 kWh >>> หากเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้า กินไฟ 1 kW. เราใช้ไฟได้นาน 5 ชั่วโมง

                                          >>> หากเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้า กินไฟ 2.5 kW. เราใช้ไฟได้นาน 2 ชั่วโมง

                                          >>> หากเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้า กินไฟ 5 kW. เราใช้ไฟได้นาน 1 ชั่วโมง

แบตเตอรี่ มีความจุ 10 kWh  >>> หากเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้า กินไฟ 1 kW. เราใช้ไฟได้นาน 10 ชั่วโมง

                                             >>> หากเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้า กินไฟ 5 kW. เราใช้ไฟได้นาน 2 ชั่วโมง

อันนี้คือคิดแบบให้เข้าใจง่ายๆ แต่ชีวิตจริงคงไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะมันมีค่าอื่นที่ต้องคำนึงถึง เช่น 

DOD ( Deep of Discharge) >>> Charge ชาร์จก็เหมือนเติมพลังงานลงแบตเตอรี่ และ Dischargeก็คือการนำพลังงานออกไปใช้งาน ดังนั้นหากเราชาร์จพลังงานเต็ม แล้วเราปล่อยพลังงานออกจนเหลือ 0% ก็อาจทำให้อายุการใช้งาน หรือรอบการใช้งาน สั้นลงได้

ซึ่งก็มีหลายทฤษฏี ที่บอกว่าเราควร Discharge หรือจ่ายไฟออกไปแค่ 80% พอแล้ว เพื่อจะได้ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ไปได้อีก ซึ่งก็ขึ้นกับแต่ละยี่ห้อของแบตเตอรี่ จะระบุไว้ ซึ่งบางยี่ห้อในปัจจุบันเคลมว่า Discharge ไปได้เลย 100% ไม่มีปัญหาเรื่องอายุการใช้งานสั้นลงแต่อย่างใด (แต่ผมก็ยังไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่ อันนี้ก็ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ )

                                       >>> หลักๆ ถ้าเป็นแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน เราก็ตั้ง  DOD ไว้ประมาณ 80-90% คือแบตเตอรี่ 5 kWh. ปล่อยพลังงาน 80% ก้เท่ากับ 4 kWh. โหลด 1 kW. ก็ใช้ไฟฟ้าได้ 4 ชั่วโมง เป็นต้น เพื่อจะได้ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้นหน่อย

*เรื่องแบตเตอรี่ ยังมีค่าทางไฟฟ้าอีก มากมายเกิน 10 ค่า ที่จะต้องทำความเข้าใจ ก็จะทยอยนวด เอ้ย...ไม่ใช่เขียนให้อ่านกันเพลินๆ ไปที่ละหน่อย ^L^' 

 

มาดูตัวอย่าง Data Sheet แบตเตอรี่ LUNA ของ HUAWEI ว่า เค้าบอกอะไรมั่ง                         

luna2000 2

จากรูป ถ้าจะติดตั้ง แบตเตอรี่ของ HUAWEI ก็ต้องติดตั้ง Inverter ยี่ห้อ HUAWEI ที่เป็นรุ่น L1 (สำหรับ1เฟส) และ M1ขึ้นไป (สำหรับ3เฟส) แล้วใช้แบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต รุ่น LUNA2000 ตาม Data Sheet ด้านบน 

- ต้องติดตั้งตัว Power Module 1 Set  (ซึ่งเซ็ตนี้ เติมแบตเตอรี่ได้สูงสุด 3 ก้อน)

- หากติดแบตเตอรี่ 5 kWh 1 ก้อน จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ 5 kWh. , และจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สุงสุด 2.5 kW. , จ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงขึ้นไปอีกนิดนึงคือ 3.5 kW. ได้แค่ 10 วินาที  หากจ่ายเกินจากนี้ก็ตัวใคร ตัวมัน  มีโอกาสพังสูง แต่ไม่ไหม้ เพราะเค้าบอกว่ามีระบบป้องกันไฟไหม้ )

- หากติดแบตเตอรี่ 5 kWh 2 ก้อน จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ 10 kWh. , และจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สุงสุด 5 kW. , จ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงขึ้นไปอีกนิดนึงคือ 7 kW. ได้แค่ 10 วินาที  หากจ่ายเกินจากนี้ก็ตัวใคร ตัวมัน  มีโอกาสพังสูง แต่ไม่ไหม้ เพราะเค้าบอกว่ามีระบบป้องกันไฟไหม้ )

- หากติดแบตเตอรี่ 5 kWh 3 ก้อน จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ 15 kWh. , และจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สุงสุด 5 kW. , จ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงขึ้นไปอีกนิดนึงคือ 7 kW. ได้แค่ 10 วินาที  หากจ่ายเกินจากนี้ก็ตัวใคร ตัวมัน  มีโอกาสพังสูง แต่ไม่ไหม้ เพราะเค้าบอกว่ามีระบบป้องกันไฟไหม้ )

- แรงดันไฟฟ้า 1 เฟส ทำงานปกติ ที่ 450 V.

- ช่วงแรงดันไฟฟ้า 1 เฟส ทำงาน 350 - 560 V.

- แรงดันไฟฟ้า 3 เฟส ทำงานปกติ ที่ 600 V.

- ช่วงแรงดันไฟฟ้า 3 เฟส ทำงาน 600 - 980 V.

ปูพื้น เกริ่นนำเรื่องกำลังไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้า และ ระบบไอบริด มาพอควรล่ะ ตอนต่อๆไป จะได้ลงรายละเอียด ระบบไฮบริดของ SUNGROW HYBRID และ  HUAWEI HYBRID กันต่อ โปรดคอยรับชม 

และท้ายนี้ ฝากเป็นกำลังใจเล็กๆ ให้กับทีมงานด้วยการ กดไลค์ กดแชร์ ที่ www.facebook.com/solarhubfc  และ  youtube.com/solarhubcompany  ขอบคุณครับ