fbpx

อันเนื่องจากหากจะเขียนบทความแบบเป็นหลักการยาวๆ เกรงว่าจะไม่มีเวลามากพอ ดังนั้นเมื่อพบเจอ หรือได้ประสบการณ์ในการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ บนหลังคาโรงงาน หรือสำนักงาน หรือ หลังคาบ้าน ก็จะทยอยนำมาลงเป็นบทความสั้นๆ เป็นระยะๆ เน้นคอนเซ็ป ว่า หนึ่งภาพ ล้านความหมาย

จากการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ บนหลังคาโรงงาน ของทีมงานโซล่าฮับ ที่ผ่านมาพบว่างานโซล่าเซลล์ จะเป็นแหล่งรวมเหล่าจอมยุทธช่าง ในหลายๆแขนง อาทิเช่น

 

งาน วิศวกรรมไฟฟ้า >>> ออกแบบ รับรองแบบ วางแผน ควบคุมงานระบบไฟฟ้า

งานวิศวกรรมโยธา >>> ออกแบบ รับรองแบบ วางแผนงานโยธา

งานปูน >>> ก่อสร้างห้องอินเวอร์เตอร์

งานฐานราก >>> ตอกเข็ม เทปูน

งานเหล็ก >>> ก่อสร้างห้องอินเวอร์เตอร์ , Walkway , บันไดขึ้นหลังคา

งานไฟฟ้า >>> เดินสายและติดตั้งระบบไฟฟ้าภายใน/ภายนอกอาคาร

งานระบบประปา >>> ติดตั้งแทงค์น้ำ ปั๊มน้า และท่อน้ำสำหรับล้างแผง

งานระบบทำความเย็น >>> ติดแอร์คอนดิชั่นห้องอินเวอร์เตอร์

งานจัดการความปลอดภัย >>> ทุกเรื่องขาด จป.ไม่ได้ อาทิ จป.หัวหน้างาน , จป.วิชาชีพ , จป.บริหาร...

ดังนั้นเรื่องที่จะมาบอกกล่าวผ่าน หนึ่งภาพ ล้านความหมาย ก็จะรวมมิตร สารพัดช่าง นึกอะไรได้ก็เขียนเลย อาจไม่เรียงตามลำดับ กระบวนการติดตั้ง เชิญทัศนา>>>

 

1.KYT => คาดการณ์ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทํางาน 

Meeting , ซักซ้อม , นัดแนะ , กำชับ ก่อนขึ้นปฏิบัติงานบนที่สูง หรือหลังคา

(ถ้าประมาท พลาด อาจถึงชีวิต ต้องตระหนักทุกวินาที)

รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง... ทำงานบนที่สูง รับรองไม่มีตกต่ำ... แน่นอน
OWNER หรือ EPC ก็อย่ากดราคากันนักเลยยย...555แอบบ่นนิดนุง

ในโรงงานจะรู้จักกันดี ที่เรียกว่า KYT
KYT => คาดการณ์ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทํางาน

K= Kiken => อันตราย
Y= Yoshi => คาดการณ์หรือทํานายล่วงหน้า
T= Training => การฝึกอบรม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

2.กระเช้าสำหรับยกแผงโซล่าเซลล์ ขึ้นติดตั้งบนหลังคา

หากเข้าติดตั้งในโรงงานฯที่เข้มงวด เรื่องความปลอดภัย ต้องจัดเตรียมใบรับรองฯ การรับน้ำหนักฯ จากวิศวกรระดับสามัญ มอบให้กับ ส่วนงานเซฟตี้ฯ ของโรงงานด้วย มิฉะนั้นแล้ว โรงงานอาจจะไม่ให้เข้าดำเนินการ นะเออ...

ทั้งนี้ ยังต้องมีใน Certificate อีกหลายประการ หากเข้าดำเนินการต่างๆ ในโรงงาน อาทิเช่น ใบเซอร์คนขับรถเครน , ใบเซอร์คนขับทาวเวอร์เครน , ใบเซอร์คนขับรถโฟล์คลิฟท์ , ใบเซอร์ ช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร , ใบเซอร์ จป.หัวหน้างาน , ใบเซอร์ จป.วิชาชีพ , ใบเซอร์คนขับรถยก , ใบเซอร์คนขับรถเฮี๊ยบ...

ดังนั้น หากท่านจะเข้าร่วมประมูล หรือ Bidding งานต่างๆ ก็อย่าลืมต้นทุน เหล่านี้ด้วยครับ เกรงว่าได้งานมาทำแต่ท้ายสุด ที่ไม่ใช่สุดท้าย ท่านก็จะ...
ไม่เหลืออะไรเลย
แหลกสลายลงไปกับตา
เหลือเพียงทรายที่ว่างเปล่า
กับน้ำทะเลเท่านั้น...

 

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

3.ดูดขี้เศษเหล็ก ต้นเหตุของหลังคาเมทัลชีทเกิดสนิม และหลังคารั่ว 

หลังจากน็อครู รางเทรย์ แล้ว ต้องดูดขี้ฝุ่นเหล็ก ให้สิ้นซาก อย่าให้เหลือ แม้แต่เศษผงธุลี ถ้าปล่อยทิ้งไว้ แค่ไม่กี่วัน หลังคาก็ จะเกิดสนิมบนหลังคาเมทัลชีทอย่างแน่นอน และนานวันเข้า หลังคาก็จะรั่ว ชัวร์ป๊าป!!!

เมื่อติดตั้ง Perforated Tray แล้ว เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องทำการเจาะรู (ช่างชอบเรียกกันว่า น็อครู ) ด้านข้างของรางเทรย์ เพื่อใส่เฟล็กกันน้ำ หรือท่อดัดแบบคอม้า เพื่อสอดสายไฟ จากแผงโซล่าเซลล์ เข้าในรางเทรย์ แล้วมุ่งสู่ตัวอินเวอร์เตอร์

ช่างติดตั้งฯบางท่านอาจจะละเลย หรือลืม ที่จะต้องทำความสะอาด หลังจากเจาะรูแล้ว จะมีเศษขี้ฝุ่นเหล็ก ตกอยู่บนพื้นหลังคาเมทัลชีท หากปล่อยทิ้งไว้ ก็จะเป็นต้นเหตุให้เกิดสนิม แล้วทำให้หลังคารั่วได้

จริงๆแล้ว คนคุม หรือเจ้าของโครงการเอง ก็ไม่มีเวลามาควบคุม เวลาช่างทำงานตลอดเวลาหรอก ซุกๆไว้ใต้แผงก็ไม่มีใครเห็นแล้ว......แต่ถ้าวิสัยช่างที่ดี สิ่งใดที่เราพอทำได้โดยไม่มีต้นทุนเพิ่ม ก็ควรต้องทำ แล้วผลลัพธ์ของการซื่อสัตย์ในหน้าที่จะส่งถึงท่านไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็สำคัญอย่างมากๆ เพราะมีผลกระทบในอนาคตได้ อย่าลืมว่าโซล่าเซลล์ติดตั้งแล้วต้องอยู่กับเราเกินกว่า 20 ปี...

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

4.การติดตั้ง Wire Way หรือ Cable Tray ยึดติดกับผนัง 

 WireWay/CableTray การติดตั้งต้องมี เหล็กซัพพอร์ทยึดกับผนัง แล้วค่อยนำ WireWay/CableTray มาวางบนเหล็กซัพพอร์ท จากนั้นค่อยยึดแบบแนวนอน ซึ่งสายไฟก็จะเดินที่ท้องเทรย์ ทำให้จัดสายไฟ 

ได้สวยงามและถูกหลักการรับน้ำหนักของเทรย์ 

ตัวอย่าง. หากไม่ทำซัพพอร์ท แล้วยึดรางเทรย์โดยตรงกับผนัง ซึ่งต้องยึดเทรย์แบบตั้ง เมื่อเดินสายไฟแล้ว สายไฟก็จะไปกองรวมปีกของเทรย์ ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบให้รับน้ำหนัก หากเปิดฝาเทรย์ สายไฟก็จะไหลร่วงออกมา

 

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

5.เทคนิคการร้อยสายไฟ DC เข้าท่อ IMC

เมื่อวางและจับยึดแผงโซล่าเซลล์แล้ว ก็ต้องลากสาย DC (สายไฟที่ทำการอนุกรมกันแล้ว เรียกว่า String ) ไปยังตัวอินเวอร์เตอร์ ซึ่งการร้อยสายไฟ ก่อนเข้า รางเทรย์ มีบางช่วงที่อาจต้องร้อยสายเข้าเฟล็กกันน้ำ หรือ ท่อ IMC ก็แล้วแต่จะใช้ตามสะดวก 

การร้อยสายเข้าท่อ ควรยัดกระดาษที่ปลายท่อ เพื่อป้องกันขอบท่อ บาดสายไฟ ระหว่างการดึงสาย

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

6. คนออกแบบวางแผงโซล่าเซลล์ ต้องคำนึงถึงตอนติดตั้งหน้างานจริง

          ที่ผ่านมาทีมงานโซล่าฮับ ก็มีการติดตั้งทั้งงานที่ออกแบบเองพร้อมติดตั้ง และ งานที่มีการออกแบบมาแล้ว (เป็นซับคอนแทรค) และเรามีหน้าที่ติดตั้งตามแบบเท่านั้น ก็ได้ค้นพบสัจจะธรรม ว่า ถ้าคนออกแบบ ไม่เคยลงมือติดตั้งเองเลย เมื่อออกแบบฯมาแล้วก็จะเกิด ปัญหาในการติดตั้งหน้างาน หลายประการด้วยกัน ซึ่งคนติดตั้งหน้างานก็ต้องหาทางแก้ปัญหา ให้งานสำเร็จ แต่ก็จะเสียทั้งเวลา เสียเงิน และเสียประโยชน์สำหรับเจ้าของโครงการฯ ไปด้วย ดังนั้นก็ขอยกตัวอย่าง ให้เห็นว่าหากออกแบบฯดี พร้อมทั้งคำนึงถึงการติดตั้งหน้างานจริง และประโยชน์ใช้สอย ในการบำรุงรักษา ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เปลืองค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดเพิ่มขึ้นเลย (เพียงแค่คิดให้ละเอียดถี่ถ้วน เท่านั้นเป็นพอ) ดังตัวอย่างด้านล่างนี้

          กรณีที่วางแผงโซล่าเซลล์ มากกว่า 2 แผงต่อแถว ตอนคอนเน็คสายหรือเชื่อมต่อสายไฟ (อนุกรมกัน เพื่อทำเป็น String)  ช่างติดตั้งหน้างานจะทำด้วยความลำบาก และอาจต้องมีการเหยียบบนแผงโซล่าเซลล์ เพื่อคอนเน็คสาย (ซึ่งบริษัทผู้ผลิตฯ แนะนำว่า ห้ามเหยียบบนแผงโซล่าเซลล์ กระจกไม่แตกก็จริง แต่มีความเสี่ยงที่จุดเชื่อมต่อภายในแผงอาจหลุดหรือแคร็ก ได้ )

 

   √โซล่าฮับ เลือกวางแผงฯ แถวละ 2 แผง แล้วเว้นช่องเซอร์วิส 30 - 50 ซ.ม. เพราะจังชั่นบ็อกซ์ อยู่ด้านข้าง ซึ่งเราสามารถเดินเข้าตามช่องเซอร์วิสแล้วสอดมือลงใต้แผง เพื่อคอนเน็คสายไฟได้ ในอนาคตหากต้องตรวจเช็คแต่ละแผงฯ ก็ไม่ต้องรื้อมิดแคล้มป์ เอ็นแคล้มป์ออก เราแค่สอดมือใต้แผง ถอดคอนเน็คเตอร์ออก แล้ววัดค่าท่างไฟฟ้าก็ได้เลยตามสะดวก

     Χ โซล่าฮับ ไม่วางแผงเกิน 2 แผงต่อแถว เพราะตอนคอนเน็คสาย ทำได้ยาก งานช้า เสี่ยงแผงแคร็ก เพราะอาจต้องเหยียบบนแผงฯ และในอนาคต หากต้องตรวจเช็ครายแผงฯ ต้องรื้อแผงฯ ถอดมิดเคล้มป์ เอ็นแคล้มป์ ออก เพื่อทำการตรวจเช็คค่าทางไฟฟ้า ดังรูปตัวอย่างด้านล่างนี้

               ที่ยกตัวอย่างนี้ก็เพื่อเป็นข้อเสนอ หรือเป็นทางเลือก ทางหนึ่ง หากท่านจะต้องออกแบบการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ก็ขอให้คำนึงถึงข้อนี้ด้วยครับ และกราบขออภัย หากข้อเขียนนี้ไปพาดพิงผู้อื่นผู้ใดครับ

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

7.ต๊าฟเกลียวท่อ IMC แล้วต้องจุ่มสีกันสนิม

การติดตั้งโซล่าเซลล์ บนหลังคา ทั้งขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก ก็มีโอกาสที่จะต้องใช้ ท่อ IMC ( ท่อร้อยสายไฟ นอกอาคาร) ซึ่งมีความยาวท่อ 3 เมตร มีเกลียวทั้ง2 ด้านและชุบกัลวาไนซ์ (Hot-Dip Galvanize) มาแล้วจากโรงงาน แต่เนื่องจาก ความยาวที่เราต้องการ ไม่ใช่ 3 เมตร เราจึงต้องตัดท่อ แล้วทำการต๊าฟเกลียวใหม่เอง ซึ่งเมื่อต๊าฟเกลียวใหม่แล้ว สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้เลยคือต้องทำการจุ่มสีกัลวาไนซ์เย็น ด้านที่ต๊าฟเกลียวใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดสนิม

 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

8.ระบบน้ำล้างแผงโซล่าเซลล์ และ เทคนิคขั้นสุดยอดของการต่อท่อน้ำ 

การดูแลระบบโซล่าเซลล์ เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้า มีประสิทธิภาพสูง ก็คือการทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ ดังนั้นเราจึงต้องจัดเตรียมระบบน้ำล้างแผงไว้ทุกโครงการเพื่อความสะดวกในการล้างแผงโซล่าเซลล์ บนหลังคา

♣ สำหรับการติดตั้งโซล่าเซลล์โครงการใหญ่ๆ ที่มีขนาดมากกว่า 100 kWp. ขึ้นไป เราจะติดตั้งบูสเตอร์ปั๊ม สำหรับอัดแรงดันน้ำขึ้นบนหลังคา ให้มีแรงดันที่ปลายท่อประมาณสัก 3 - 4 บาร์ ( ***ทำไมต้อง 3 - 4 บาร์ ก็เพราะว่าถ้าเปิดก็อกน้ำ พร้อมกัน 3 ก็อก น้ำก็ยังไหลให้ทีมงานล้างแผงพร้อมกันได้ทั้ง 3 ทีม )

♣ ถังบรรจุน้ำ ใช้ 1,000 ลิตร 3 ถัง  หรือจะใช้ขนาด 3,000 ลิตร 1 ถัง ก็ได้ตามสะดวก ซึ่งปริมาตรน้ำ 3,000 ลิตรกำลังพอดี สำหรับล้างแผงพร้อมกัน 3 ก็อก หรือ 3 ทีมงาน

♣ ใช้ท่อประปาเหล็กชุบกัลวาไนซ์ (คาดน้ำเงิน) สำหรับใช้เป็นท่อน้ำ เดินบนหลังคา (*** ทำไมไม่ใช้ท่อ HDPE ไม่ดีกว่ารึ >> อันนี้ก็แล้วแต่เลือกเลยครับ แต่ที่เคยติดตั้งมา ท่อ HDPE ติดตั้งแล้วตากแดดแป๊ปเดียวก็เลื้อยเป็นงูแล้ว ดูแล้วไม่ค่อยสวย อาจจะต้องยึดแคล้ม ให้ถี่ๆหน่อย*** )

เทคนิคการต่อท่อประปา ขั้นสุดยอด เราจะใช้น้ำยาทาเกลียวท่อ (ช่างชอบเรียกกันว่า กาวเปอร์มาเทค) ทาที่เกลียวนอกแล้วใช้สายสิญจน์ พันทับ แล้วขันอัด รับรองไม่มีรั่วซึม เจ็ดชั่วโคตร ( แต่ถ้านานๆไป จะถอดข้อต่อออก เราต้องใช้แก๊สเป่า แล้วค่อยขัน จึงจะออก)

♣ ที่วาล์ว ปลายทางใส่หางปลาไหล สำหรับนำสายยางมาเสียบเพื่อทีมงานฉีดน้ำล้างแผงได้โดยสะดวก

♣ การล้างแผงก็แค่ฉีดน้ำ แล้วใช้ผ้าม๊อบ เช็ดถู ก็เป็นพอแล้ว ไม่ต้องใช้น้ำยาหรืออะไรให้ซับซ้อนมาก เพราะลองมาแล้ว เช็ดล้าง ธรรมดาแจ่มสุดแล้ว

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

9. ลดการใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก บนหลังคา (โดยเปลี่ยนจากเฟล็กซ์กันน้ำ มาใช้ ท่อ IMC แทน)

อากาศในเมืองไทย ร้อนมากๆ โดยเฉพาะบนหลังคา ประกอบกับเมื่อติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ แล้วเราก็หวังว่าระบบจะอยู่ยั้งยืนยง เกินกว่า 20 ปี เพราะแผงโซล่าเซลล์ ก็รับประกัน 25 ปี ดังนั้นอุปกรณ์อื่นๆ ก็ควรที่จะต้องคงทนถาวร อึดมากกว่า 20 ปี เช่นกัน ดังนั้น ทีมงานจึงคิดว่าเราควรลดการใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก บนหลังคา  อันดับแรกเราเลยเลือกที่ลดการใช้เฟล็กซ์กันน้ำ (เพราะที่เคยใช้มา บางยี่ห้อ ช่วงที่โค้งงอมากๆ ก็เริ่มออกอาการเสื่อม แตกลายงาบ้างเหมือนกัน อาการต่อไปคืออาจจะแตกรั่วได้ )

เราเลยเปลี่ยนจากการใช้เฟล็กซ์กันน้ำ มาเป็นท่อ IMC แทน ซึ่งก็หวังว่าจะ อึด คงทน ถาวร มากกว่า 20 ปี ( ลองดูซิว่า ท่อ IMC กับ แผงโซล่าเซลล์ ใครจะอึดกว่ากัน )

*ข้อควรระวัง โครงการใหญ่ๆ หากจะใช้ท่อ IMC แทนเฟล็กซ์กันน้ำ ควรมีเครื่องดัดท่อ จะเหมาะกว่า เพราะต้องดัดท่อจำนวนมาก ถ้าใช้ที่ดัดท่อแบบมือดัด เกรงว่าจะไม่ทันกิน และจะไม่สวยงามเหมือนกันทุกเส้น (เดี๊ยวช่างจะมองค้อนเอาน่ะ)

 

 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++