fbpx

          ตอนนี้เรามาลุยดูการใช้งานของ ระบบไฮบริด อินเวอร์เตอร์ ของยี่ห้อโกรวัตต์ : GROWATT ซึ่งเค้าคุยว่าเป็น All in one hybrid inverter (จริงๆเค้าไม่ได้คุยหรอก.. แค่ดูมาจาก Data Sheet ของเค้า)  ซึ่งรุ่นที่ทีมงานโซล่าฮับ ติดตั้งก็ถือว่าเป็นรุ่นขนาดกลาง เพราะเป็นขนาด 30 KW. ใช้ชื่อโมเดล ATESS HPS 30 ซึ่งถือได้ว่าเป็นอินเวอร์เตอร์ ไฮบริด แบบออน-อ๊อฟกริด ซึ่งมีฟีเจอร์เด่นๆ  หลายอย่าง 

ถามกันจัง..เอาแบบมีแบตด้วย ไฮบริดอ่ะ เสนอราคามาเลย..!! เป็นยังไงกันฮึ? (Solar Hybrid EP1)

โซล่าเซลล์ แบบไฮบริด ปูพื้น...ลื่นหัวแตก!!! (Solar Hybrid EP2) 

♦ รองรับ โซล่าเซลล์ , แบตเตอรี่ , กริดของการไฟฟ้า และโหลด

♦ Peak Shaving หรือเทคนิคลดกำลังไฟฟ้าสูงสุด โดยให้แบตเตอรี่ดีสชาร์จ ออกมาเพื่อลดกำลังไฟฟ้าในชั่วขณะนั้น แล้วก็จะชาร์จเข้าเมื่อมีโหลดลดลง หรือจะตั้งค่าเป็นแบบแบ็คอัพ ก็ได้ตามต้องการ

 ♦ สามารถนำมาขนานกันได้ 2 set

♦ มีหน้าจอทัชสกรีน ง่ายในการตั้ง

♦ หากแหล่งจ่ายใด แหล่งจ่ายหนึ่ง ขาดหาย อีกแหล่งจ่ายหนึ่ง ก็จะจ่ายทดแทนแบบไม่มีสะดุด

♦ สามารถตั้งค่าระยะไกลได้

♦ ข้อดีอีกอย่าง คือสามารถต่อได้ทั้งแบตเตอรี่ Deep Cycle (ตะกั่วกรด) และหรือ แบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งบ้านหลังนี้เราเลือกใช้ แบตเตอรี่ Deep Cycle แบบตะกั่วกรด  Free Maintennance เพราะถ้าเป็นแบตเตอรี่ลิเธียม ณ ตอนนั้น ( ปี 2562 ) แพงกว่าอีก 6-10 เท่า

 

รูปด้านบน แสดงไดอะแกรมอย่างง่าย >> ไฟจากโซล่าเซลล์ ส่งผ่าน 1. PV Breaker >> ตรงไปยังชุด 2. PV controller >> ส่งต่อไปยัง 3. Bidirectional Inverter >> 4. Transfer Switch แล้วส่งไป 6. Grid Breaker แล้วอีกทางหนึ่งส่งไป 5.Load Breaker >> ระหว่างทาง 2 กับ 3 มี 7 Battery Breaker มาเสริมทัพ  (บางท่านอ่านหัวข้อนี้..อาจบอกว่า เขียนอธิบายแค่นี้ ไม่ต้องลำบากก็ได้ กรูดูรูปออก...ฮ่าๆๆๆ) 

 

 

รูป 3-2-1 นี้ แสดงวงจรภายในของ อินเวอร์เตอร์ ไฮบริด GROWATT ATESS HPS30 (เอามาให้ดูพอเป็นกระษัย อย่าถามลึก เราแค่รู้แค่เอามาใช้งานพอ ไม่ได้เอามาสร้างแข่ง.. อีกอย่างผมเองก็ไม่รู้ด้วย...)

 

รูป 3-1 รูปแสดงการเชื่อมต่อใช้งานอินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่ และโหลดใช้งาน ซึ่งตรงนี้ต้องขยาย เพราะการต่อใช้งานจริง เราต้องทำการแยกโหลดออกเป็น 2 วงจร >> เพื่ออะไร ตามไปอ่านด้านล่างๆต่อไป

 

 

จากรูป Data Sheet ด้านบน รุ่น ATESS HPS30 ที่เรานำมาติดตั้ง เป็นรุ่น 30 kW. 3Phase ที่เป็น แบบไฮบริด ออน-อ๊อฟกริด กล่าวคือเป็นได้ทั้ง ฟังก์ชั่นออนกริด (ขนานไฟเข้ากับระบบกริดการไฟฟ้าฯ) และเป็นฟังก์ชั่น อ๊อฟกริด (ไม่มีไฟจากกริดการไฟฟ้าฯ ก็จ่ายไฟให้กับโหลดได้)

♥ สำคัญมาก

♦ ความหมายของ 30 KW. คือตอนที่ตัวอินเวอร์เตอร์ ทำงานในสภาวะอ๊อฟกริด หรือจ่ายไฟจากแผงและหรือแบตเตอรี่โดยตรง (ไม่มีแหล่งจ่ายจากกริดการไฟฟ้าฯ) สามารถทน หรือสามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ 30 KW เท่านั้น ห้ามเกิน ถ้าเกินอาจทำให้อินเวอร์เตอร์พัง ซึ่งก็มีบางยี่ห้อที่ทน โอเวอร์โหลดได้ 10-20% แต่ก็ต้องไม่ใช่ระยะเวลาที่นานจนเกินไป 

♦ บ้านที่เราไปติดตั้ง ต้องมีการใช้กำลังไฟฟ้าในชั่วขณะหนึ่ง หรือที่เราเรียกว่า Peak Load : พีคโหลดต้องไม่เกิน 30 KW. ซึ่งถ้าใช้เกินแค่ไม่กี่ครั้งก็อาจจะทำให้อินเวอร์เตอร์พังได้ ซึ่งในช่วงเวลาปกติ อาจใช้กำลังไฟฟ้าแค่ประมาณ 10 KW. แต่หากมีการเปิดแอร์พร้อมกัน 5 ตัว ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เตาไฟฟ้า ไมโครเวฟ รวมกับปั๊มน้ำ 5 แรง 2 ตัว ของสระน้ำ สตาร์ท ทีเดียว ก็กินไฟ เกิน 30 KW แน่ๆ แล้วอย่างนี้ ก็เกิน 30 KW อินเวอร์เตอร์ก็พังน่ะสิ... ก็ใช่น่ะสิๆๆ

♦ ดังนั้น บ้านที่เราติดตั้ง จึงจำเป็นต้องแบ่งแยกเป็นวงจรย่อย 2 วงจร คือ

      1. สำหรับโหลด สำหรับอ๊อฟกริด ที่มี Peak Load ไม่เกิน 30 KW *และต้องไม่มีโหลดที่กระชากไฟ สูงๆ หรือกินกระแสสตาร์ทสูงๆ เช่น มอเตอร์มากแรงม้า เป็นต้น 

      2. สำหรับโหลดที่เหลือภายในบ้านทั้งหมด เพื่อสำหรับสภาวะออนกริด ขนานไฟ ทั่วทั้งบ้าน

♦ ซึ่ง ณ จุดๆนี้ คำว่า Automatic Transfer Switch : ATS สวิทช์ตัดต่อแหล่งจ่าย จึงต้องนำมาใช้ในการนี้ กล่าวคือ สภาวะปกติ ที่มีแหล่งจ่ายไฟจากกริดการไฟฟ้าฯ ATS ก็จะเป็นสะพานไฟ ต่อให้ไฟจากโซล่าเซลล์ขนานเข้าไฟกับกริดการไฟฟ้าฯ แล้วจ่ายไปยังโหลด  แต่หากขณะหนึ่งไฟกริดการไฟฟ้าฯ ขาดหายไป ATS ก็มีหน้าที่สลับ ให้แหล่งจ่ายไฟจากแบตเตอรี่แทน พร้อมทั้งจ่ายเฉพาะโหลดตามข้อ 1. หรือส่วนใหญ่เราเรียกว่า Emergency Load หรือ Backup Load

งั้นเราไปดูไดอะแกรม การต่อใช้งานจริงของบ้านหลังนี้กันเล้ย...(ต้องเสียงสูง แบบนางงามเปิดตัวหน่อย)

          จากรูปด้านบน คือไดอะแกรม ที่เราติดตั้งจริงที่บ้านคุณลูกค้า โดยที่บ้านหลังนี้เป็นบ้านขนาดใหญ่ 3ชั้น ห้องน้ำ10ห้อง ห้องนอนมากกว่า 10 ห้อง รวมทั้งมีบ้านพักพนักงานอีกหลายห้อง  ซึ่งก็มีอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มากมาย อาทิ เช่น แอร์ 10 เครื่อง เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น ปั๊มน้ำ หลอดไฟแสงสว่าง ระบบปั๊มน้ำทำความสระน้ำ ระบบHeater รักษาอุณหภูมิน้ำในสระ เป็นต้น

          ซึ่งจริงๆ หากจะติดตั้งให้ระบบโซล่าเซลล์ครอบคลุม หรือรองรับโหลดทั้งหมดภายในบ้าน โดยไม่ต้องแยกวงจร (วงจรหลักทั้งบ้าน และวงจรแบ็กคอัพ)  ต้องใช้อินเวอร์เตอร์ขนาด 120 KW. จึงจะรองรับได้ ก็ใหญ่มากกว่ารุ่นนี้ (30kw) ถึง4เท่า ดังนั้น ราคาก็ไม่ต้องพูดถึง แพง..อิ๊บอ๊าย...

ขออธิบาย หลักการ ภาพรวม ตามตัวเลขที่ระบุ ดังนี้

1. ไฟฟ้าจากกริดของการไฟฟ้าฯ เข้ามาบ้าน โดยเป็นไฟฟ้า 3 เฟส 4สาย

2. กริดจากการไฟฟ้าฯ ก็มาเข้าเมน เบรคเกอร์ ของบ้าน ซึ่งเป็นวงจรหลัก และเป็นโหลดรวมทั้งบ้าน

3. จากเมนเบรคเกอร์ ก็มาจ่ายไฟส่วนหลัก ของทั้งบ้าน

4. สายไฟ กริดจากการไฟฟ้าฯ ก็เบิ้ลมาเข้าเบรคเกอร์สำหรับจ่ายไฟให้กับ อินเวอร์เตอร์ Growatt ATESS HPS30

5. อินเวอร์เตอร์ Growatt ATESS HPS30 โดยสายเมนจากกริด ก็มาช่องนึง  และไฟออกไปจ่ายแบ็คอัพโหลด ก็อีกช่องนึง

6. ATS : Automatic Transfer Switch ตัวนี้เป็นสวิทช์ตัด-ต่อเลือกแหล่งจ่ายไฟ ว่าวงจรแบ็คอัพโหลด จะรับไฟจากแหล่งใด เช่น สภาวะปกติก็ใช้จากกริดการไฟฟ้าฯ แต่ถ้าไฟการไฟฟ้าดับก็ใช้จากแบตเตอรี่  หรือช่วงหัวค่ำใช้จากแบตเตอรี่จนเหลือ 20% แล้วค่อยตัดไปใช้จากกริดการไฟฟ้า เป็นต้น  ***สำคัญยิ่งนัก อินเวอร์เตอร์ ไฮบริด รุ่นใหม่ๆ บางรุ่น บางยี่ห้อ จะใส่อุปกรณ์ ATS ให้มาในตัวด้วยเลย ดังนั้นการนำไปติดตั้ง ไม่มีสูตรตายตัว ต้องทำตัวเป็นจอมยุทธไร้กระบวนท่า ใช้ยี่ห้อไหน ก็ต้องดู Data sheet นี่ห้อนั้น หรือถามคนขาย แล้วค่อยนำมาติดตั้ง ให้กับลุกค้าตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายไป

7. เบรคเกอร์ ตัดวงจร ก่อนเข้าแบ็คอัพโหลด หรือบางทีอาจเรียกว่า Emergency Load

8. แบ็คอัพโหลด หรือบางทีอาจเรียกว่า Emergency Load ซึ่งต้องคำนวณค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ต้องไม่เกิน 30 kW.

9. ชุดแผงโซล่าเซลล์ ติดตั้งขนาดแผง 330 W. จำนวน 140 แผง รวมกำลังไฟฟ้าแผง = 46.20 kWp. **ตรงนี้สำคัญ จริงๆแล้วอาจไม่ต้องติดแผงมากขนาดนี้ ( แต่งานนี้เป็นงานแก้ไขที่โซล่าฮับ เข้าไปแก้ เป็นทีมที่4 ล่ะ555) ซึ่งทีมเดิมเค้าติดแผงไว้เยอะอยู่แล้ว ก็เอาตามนั้น >>> ดังนั้นจำนวนแผงจะติดจำนวนเท่าใด ก็พูดยาก เพราะต้องดูการใช้โหลดตอนกลางวัน ให้สมดุลย์ ว่าให้มีเหลือไปชาร์จไฟ เข้าแบตเตอรี่ ด้วย แต่ที่ไซท์นี้มีเยอะอยู่แล้วก็ยิ่งดี

10. แบตเตอรี่ เลือกใช้เป็นแบบ Deep Cycle ขนาด 12 V. , 200 Amp-Hour จำนวน 64 ลูก  โดยทำการอนุกรมกัน 32 ลูก จำนวน 2 ชุด แล้วนำมาขนานกัน ก็จะได้แรงดันไฟฟ้าประมาณ 384-414 Vdc. และพลังงานไฟฟ้า 400  Amp-Hour  ***สำคัญอีกแล้ว โหลดที่นำมาใช้งานกับแบตเตอรี่ ก็ต้องไม่โหลดที่ใช้ไฟกระชากสูงๆ เช่นกัน เช่น มอเตอร์ขนาดใหญ่ แอร์ชีลเลอร์ขนาดใหญ่ เป็นต้น

          ตอนแรกกะว่าจะเขียน ไฮบริด อินเวอร์เตอร์ ตอนละ1ยี่ห้อ สรุปแล้วไม่จบ (ตอนนี้มีคิวรออยู่ 5 ยี่ห้อ) ต้องมีต่อตอนที่ 2 เพราะยังจะต้องต่อเรื่องหลักการทำงาน ในแต่ละสภาวะ หรือเรียกว่าแต่ละสเตท อีก โปรดติดตามตอนต่อไปของ Growatt ATESS HPS30...ไม่น่าจะนาน เพราะเครื่องกำลังติด...บรืน.บรื๊น.บรื๊นซซซ์