fbpx

( ไม่ใช่โฆษณา แต่ อวยใส้แตก แหกใส้ฉีก SolarEdge ห้ามลอกเลียนแบบครับ )

          ทำไมมาเขียนถึง อินเวอร์เตอร์ ยี่ห้อSolarEdge หล่ะ รับงานมาแน่เลย ?

ขอตอบเลยว่า ใช่...เอ้ย ไม่ใช่ ไม่ใช่...555...      

จริงๆแล้ว ก็แค่ไม่รู้จะเขียนเรื่องไรแล้ว หมดภูมิความรู้ที่จะเขียน นึกไม่ออก...

          และก็พอดีกับทีมงานของโซล่าฮับ ส่วนใหญ่ไปนำเสนอลูกค้าก็จะ ออกแบบใช้อินเวอร์เตอร์ SolarEdge ซะเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยได้คลุกคลี ตีโมงมาบ้างพอสมควร ประกอบกับการไปนำเสนอลูกค้า บางครั้งเวลาไม่ค่อยพอ ที่จะได้พูดถึงคุณสมบัติแจ่มๆของSolarEdge ดังนั้นก็เลยเอาคุณสมบัติที่พิเศษ แจ่มๆ มาเขียนไว้ตรงนี้เลย จะได้แบ่งปันกันรู้ด้วย

 

         SolarEdge นวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก ประเทศอิสราเอล โดยปี 2012 ได้รับรางวัลจาก SunSpec.org ให้เป็นผู้ชนะรางวัล SunSpec Open Standards Champion ในประเภท Supplier  ซึ่งรางวัลนี้ถือว่าผู้ผลิตส่วนประกอบหรือผู้ให้บริการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ SolarEdge ได้รับการคัดเลือกจากผลงานที่โดดเด่นในการพัฒนามาตรฐาน ระบบควบคุมอินเวอร์เตอร์ ระบบมอนิเตอริ่ง และการจัดการควบคุมระดับ PV Module

          ในมุมมองของโซล่าฮับ ขอแบ่งประเภทอินเวอร์เตอร์ เป็น 6 ประเภท ซึ่งได้เคยเขียนรายละเอียดประเภท Solar Inverter ที่มีใช้งานในปัจจุบัน แล้วเชิญคลิกเข้าไปอ่านครับ 

          SolarEdge ถือเป็นประเภท Solar Inverter แบบมี Power Optimizer : เป็นออนกริด อินเวอร์เตอร์ ประเภทหนึ่งซึ่งมีพัฒนาการเพื่อทำให้ อินเวอร์เตอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการเพิ่มอุปกรณ์ Power Optimizer ไปติดตั้งที่ใต้แผงโซล่าเซลล์ แต่ละแผง (บางรุ่น 1 Power Optimizer ต่อได้ 2 PV) เพื่อทำหน้าที่ในการปรับแต่งค่าแรงดันไฟฟ้า DC ที่มาจากแผงโซล่าเซลล์ให้เหมาะสมก่อน (DC to DC) แล้วจึงส่งต่อไปยัง Inverter เพื่อแปลงเป็น ไฟฟ้า AC นำไปใช้งานต่อไป

          ดังนั้นหากต้องการจะใช้ SolarEdge ก็ต้องซื้อ Power Optimizer ไปติดตั้งด้วย ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่เป็นเหตุให้ ราคาของ SolarEdge สูงกว่ายี่ห้ออื่น..แต่มีเหตุผลอื่นอีกที่ เราเลือก SolarEdge นำเสนอให้ลูกค้า ดูคำตอบในบทความต่อๆไปครับ

          ***แล้วมี Power Optimizer มันดียังไง?

 

1.อย่างที่ทราบกัน การต่อแผงโซล่าเซลล์ เราก็จะนำแต่ละแผงมาต่ออนุกรมกัน เรียกว่า String จากนั้นก็เชื่อมต่อมายังตัวอินเวอร์เตอร์ จากรูปจะเห็นว่าหากเป็นอินเวอร์เตอร์รุ่นเดิมๆ เมื่อมีเงามาบัง เช่น เมฆ ขี้นก หลังคาบังเป็นบางส่วนหรือบางแผง ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการตกลงไปทั้ง String เพราะต่ออนุกรมกันจึงมีผลกระทบไปทั้งหมด

         แต่หากเป็น SolarEdge จะมีอุปกรณ์ Power Optmizer เป็นตัวบูทอัพ BootUp ค่าทางไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์ ที่ไม่โดนบังเงา ให้เหมาะสมกับตัวอินเวอร์เตอร์ต้องการ ดังนั้นประสิทธิภาพก็จะตกลงเฉพาะแผงโซล่าเซลล์ที่โดนบังเท่านั้น 

 

2.ในพื้นที่หลังคาที่มีอุปสรรคในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เช่น เงาของลูกหมุน เงาของแจ็ครูฟ เงาของอาคารใกล้เคียง เงาของเสาอากาศ เป็นต้น เราสามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องจากสาเหตุตามข้อที่1 กล่าวคือ ผลกระทบจากเงาที่บังแผงก็มีผลเฉพาะแผงที่โดนบังเท่านั้น และพระอาทิตย์ก็เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ  ก็ทำใหเงา เคลื่อนไปด้วยซึ่งระยะเวลาในการบังเงาก็เป็นบางช่วงเวลาเท่านั้น จึงทำให้เราติดตั้งเพิ่มเติมได้ ตามรูปตัวอย่างด้านล่าง

 

 

3.ในเรื่องของความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน และพนักงานดับเพลิง กล่าวคือหากเป็นอินเวอร์เตอร์ทั่วไปที่ไม่มี Power Optimizer เมื่ิอเราทำการตัดไฟจากการไฟฟ้าฯ ก็จะทำให้อินเวอร์เตอร์ไม่ทำงาน แต่ถ้าเป็นเวลากลางวัน ไฟฟ้า DC จากแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาก็ยังมีไหลลงมายังตัวอินเวอร์เตอร์ (ช่วงแดดจัด แรงดันประมาณ 500-800 V DC. ในแต่ละString) ซึ่งกรณีเกิดเพลิงใหม้อาคารที่มีการติดตั้งโซล่าเซลล์ ก็อาจจะเกิดอันตรายกับพนักงานดับเพลิงได้

แต่หากเป็นอินเวอร์เตอร์ SolarEdge ที่มี Power Optimizer ใต้แผง เมื่อทำการตัดไฟจากการไฟฟ้าฯแล้ว ตัวPower Optimizer จะควบคุมแรงดัน แต่ละตัวให้เหลือแค่ 1 V DC. เท่านั้น (ช่วงแดดจัด แรงดันก็เหลือประมาณ 5-20 V DC. เท่านั้น ในแต่ละString ) ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งอาคารและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งตรงจุดนี้เอง ที่ องค์กร SunSpec Alliance ( sunspec.org ) จึงได้กำหนดมาตรฐาน rapid shutdown requirements. กล่าวคือ กำหนดให้การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์บนหลังคา ในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเดือนธันวาคม 2561 ต้องสามารถหยุดการผลิตไฟฟ้า(จากแผงโซล่าเซลล์ที่อยู่บนหลังคา) ได้ภายใน 30 วินาทีหลังจากมีการส่งสัญญาณ ซึ่งทีมงานโซล่าฮับได้เคยเขียน SunSpec Communication Signal โดยมีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับ rapid shutdown requirements. แล้วสามารถคลิกอ่านรายละเอียดครับ ( ซึ่งมาตรฐานนี้ SolarEdge ผ่านอยู่แล้ว เพราะเค้าก็ได้แนวคิดนี้มาจาก SolarEdge )

ประกอบกับขณะนี้ อินเวอร์เตอร์ SMA เจ้าตลาดของโลก ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ Optimizer ออกมาแล้วเช่นกันครับเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน rapid shutdown requirements. เพื่อทำตลาดในอเมริกา โดยใช้ชื่อว่า TS4-R Module-Technology Optimization redefined. ดูรายละเอียดที่นี่ครับ https://www.sma.de/en/products/smart-module-technology/ts4-r.html

จริงๆแล้วฟีเจอร์นี้ ก็คล้ายๆกับอุปกรณ์ Fire Fighter Switch แหละครับ ที่เคยเขียนถึงไปแล้ว เพียงแต่ว่าอุปกรณ์ Fire Fighter Switch ต้องติดตั้งบนหลังคาหรือให้ใกล้แผงโซล่าเซลล์ให้มากที่สุด ก็ใช้งานได้คล้ายๆกันครับ

 

ไปตามต่อ Episode2 และ Episode3 ที่นี่

ว่าด้วยเรื่องอินเวอร์เตอร์ ออนกริด ยี่ห้อ SolarEdge (Episode2)

ว่าด้วยเรื่องอินเวอร์เตอร์ ออนกริด ยี่ห้อ SolarEdge (Episode3)

--------------------------------------------------------------------------------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ของทีมงานโซล่าฮับเท่านั้น ห้ามนำไปอ้างอิงเป็นมาตรฐานใดๆทั้งสิ้น และจะไม่รับผิดชอบใดๆ หากท่านนำไปอ้างอิงนะครับ