fbpx

*อัพเดท มาตรการส่งเสริมการลงทุน ในส่วนของการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ บนหลังคา ที่หมดเขตไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565

ขณะนี้ (21 ก.พ.66) ยังมีให้การส่งเสริมอยู่ แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาตรการ โดยจากเดิมคือมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ เปลี่ยนเป็นมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ดังนั้น หากต้องการขอรับส่งเสริมในปัจจุบันจะอ้างอิงตามมาตราการยกระดับอุตสาหกรรมค่ะ โดยรายละเอียดสามารถศึกษาเพื่มเติมตามลิงค์นี้ https://www.boi.go.th/upload/content/15_2565_639816fc02121.pdf 

ตามมาตรการข้างต้น ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ จะอยู่ในข้อ 1.4 ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ ก็จะคล้ายๆเดิม สามารถอ่านรายละเอียดได้ ตามบทความเดิม ด้านล่างนี้

 

เกี่ยวกับการสนับสนุนเงินลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือ Board Of Investment ( BOI ) คำถามจากผู้ประกอบการ ที่ทีมงานโซล่าฮับ ได้พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลมา ก็จะได้คำถามกลับมาเป็นการบ้านมากมาย หลายข้อ เช่น

บีโอไอ สนับสนุนเกี่ยวกับโซล่าเซลล์อะไรบ้าง ?

เงื่อนไขยุ่งยากไหม มีอะไรบ้าง?

ลดค่าลงทุนได้ตั้ง 50% ของเงินลงทุนจริงป่าว?

บางคนบอกว่าลดได้แค่ 10% ?

บางคนบอกลดได้แค่ Vat 7% ?

นานไม๊กว่าจะอนุมัติ ?

ต้องทำระบบบัญชีใหม่รึป่าว ?

โรงงานแบบไหน ที่มีสิทธิ์ รับการส่งเสริมการลงทุน?

เว็บ boi.go.th มีคำว่า นโยบาย , มาตรการ , หลักเกณฑ์ , กฏ ระเบียบ ประกาศ , ประเภทกิจการ , สิทธิประโยชน์ , ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริม ...

>>> แค่เจอคำพวกนี้ก็งงแล้ว แต่ละอันมันมีความหมายเยี่ยงไรรึ ออเจ้า ?

 

มา...พ่ามๆ เดี๊ยวพี่หมื่น... จะเล่าให้ฟัง

 

*** เนื่องจากรายละเอียดของการขอการส่งเสริมการลงทุนฯ มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก หากเขียนอย่างละเอียดก็จะยิ่งทำให้ท่านๆ สับสน เข้าไปอีก ดังนั้น โซล่าฮับ จึงขอแบ่งแยกเป็นข้อๆ ไม่ลงรายละเอียดลึกๆ แต่เพื่อเป็นไกด์ไลน์ ในการไปลงรายละเอียดกันเอาเอง หากเกิดการผิดพลาด หรือข้อมูลไม่ครบถ้วนก็ต้องขออภัยด้วย ทั้งนี้หากพบว่าข้อมูลจุดใดที่ไม่ถูกต้อง ขอความกรุณาแจ้งกลับมายัง อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เพื่อจะได้ปรับปรุงให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นวิทยาทานกับท่านอื่นๆต่อไปครับ ***

 

1.รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เมื่อปี 2557 ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2557 (เดิมหมดเขตการส่งเสริมฯ เมื่อ 31 ธ.ค.60) และได้มีประกาศขยายระยะเวลาการส่งเสริมออกไปอีก 3 ปี ไปหมดเขต วันที่ 31 ธ.ค.63 โดยมีรายละเอียดการขยายระยะเวลาการส่งเสริม ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 9/2560 และประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 10/2560

  

2.ซึ่งการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ สำหรับใช้เอง เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า หรือ Solar Rooftop ก็เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรการนี้  ซึ่งประกาศนี้เรียกว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยมีเงื่อนไขคร่าวๆ ดังนี้ 

     2.1 ต้องมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ยกเว้นโครงการลงทุน ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องมีขนาดลงทุนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

     2.2 ผู้ประกอบการที่จะเข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน

 

3.สิทธิประโยชน์ ที่ได้รับสำหรับผู้ติดตั้งโซล่าเซลล์ แบ่งเป็น 2 อย่าง

 

     3.1 ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ซึ่งก็จะได้การยกเว้นภาษีนำเข้า 10% และยกเว้น VAT อีก 7% 

           ซึ่งในข้อนี้ เจ้าของโรงงานที่ติดตั้งโซล่าเซลล์ (Owner) จะต้องเป็นผู้สั่งซื้อแผงโซล่าเซลล์ และหรืออินเวอร์เตอร์ มาเองจากบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ

           ***เนื่องจากการใช้บัตรส่งสริมฯในข้อนี้ ถือว่าใช้ตาม มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

           ***สำคัญมากพลาดกันเยอะ คือชื่อผู้สั่งซื้อจะต้องเป็นชื่อของ Owner เท่านั้น และ Serial No. ของอุปกรณ์จะต้องถูกต้องตรง กับที่จะนำมาติดตั้งจริง มิฉะนั้น จะนำออกจากท่าเรือ ไม่ได้

           ***และสำคัญอีกเช่นกัน คือระบบบัญชี ของ Owner จะต้องแยกอย่างชัดเจนว่า เครื่องจักรที่นำเข้ามาใช้ติดตั้ง (ในที่นี้ก็คือ แผงโซล่าเซลล์ และอินเวอร์เตอร์) นำมาผลิตสินค้าล็อตใด อย่างไร เท่าไหร่ เมื่อใด เป็นต้น (หลังจากได้บัตรส่งเสริม ในข้อนี้แล้ว หาก Owner ทำบัญชีแบบ ไม่ได้แยกชัดเจนในกระบวนการผลิต หรือมีหลายบัญชี ก็จะม่ีความยุ่งยากพอสมควร พนักงานบัญชี จะต้องปวดหัวเป็นแน่แท้ ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูว่า จะคุ้มค่า หรือไม่อย่างไร แต่ละท่านก็ต้องพิจารณา กันดูครับ)

 

     3.2 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง 

           เช่น โรงงานเรา ลงทุนติดตั้งโซล่าเซลล์ขนาด 500 kWp. ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท หากขอสนับสนุน BOI ก็จะมีสิทธิ์ได้ลดภาษี 10 ล้านบาท โดยหาก ในปีที่ขอใช้สิทธ์ BOI  โรงงานเราต้องจ่ายภาษี 15 ล้านบาท เราก็ใช้สิทธ์นี้ ลดภาษีเงินได้ 10 ล้านบาท เหลือจ่ายภาษีแค่ 5 ล้านบาท เป็นต้น

           แต่หากในปีนั้น โรงงานเราเสียภาษี แค่ 5 ล้านบาท เราก็มีสิทธ์ลดหย่อนภาษีได้ 5 ล้านบาทในปีที่1  แล้วในปีที่ 2 หรือ ปีที่ 3 เราค่อยใช้สิทธ์ที่เหลืออีก 5 ล้านบาท ทั้งนี้สิทธ์ต้องใช้ภายใน 3 ปีเท่านั้น

           ***กรณี ใช้บัตรส่งเสริมในข้อนี้ ระบบกระบวนการผลิต หรือระบบบัญชี ก็ไม่ต้องแยกให้ยุ่งยาก เพราะถือว่าใช้ใน มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม คือลดค่าไฟฟ้าในภาพรวมของทั้งโรงงาน

 

4.ประเภทอุตสาหกรรมที่มีสิทธ์ ขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้  ซึ่งขอบอกเลยว่ามีรายละเอียดเยอะมาก แบ่งแยกเป็นอุตสาหกรรม 8 ประเภท ประกอบด้วย ( สำหรับรายละเอียดแต่ละอุตสาหกรรม ท่านต้องคลิกที่ลิงค์แต่ละหมวด ดาวน์โหลด ไปอ่านกันเองครับ ซึ่งผมได้จัดเตรียมไว้ให้ท่านแล้วครับ )

          4.1 หมวด 1 เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร

          4.2 หมวด 2 แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน

          4.3 หมวด 3 อุตสาหกรรมเบา

          4.4 หมวด 4 ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง

          4.5 หมวด 5 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

          4.6 หมวด 6 เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ

          4.7 หมวด 7 กิจการบริการและสาธารณูปโภค

          4.8 หมวด 8 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

              

               หากประเภทกิจการของท่าน ตรงกับเงื่อนไข ในข้อใด ท่านก็มีสิทธิ์ ที่จะขอการส่งเสริมการลงทุนฯ 

           ***สำคัญมาก การขอส่งเสริมการลงทุนโดยการยกเว้นภาษีอากรขาเข้า (ลด 10% + vat 7% ) ตามข้อ 3.1 ข้างต้น สามารถขอได้ทุกประเภทอุตสาหกรรม เพราะจัดไปอยู่ในหมวดประเภทกิจการ 7.1.1.2 กิจการผลิตพลังงาน ไฟฟ้า หรือ พลังงาน ไฟฟ้าและไอน้ำจาก พลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม  ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ยกเว้นขยะ หรือ เชื้อเพลิงจาก ขยะ

          ***สำคัญมาก การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ตามข้อ 3.2 ต้องดูประเภทกิจการว่า อยู่ในหมวด 1 - 8 หรือไม่  ถ้าอยู่ตรงตามเงื่อนไขก็ขอได้ แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ก็ขอส่งเสริมการลงทุนฯไม่ได้

 

 

5.แล้วจะติดต่อกับใคร ที่ไหน ยังไง ?

         www.boi.go.th หรือที่ http://www.boi.go.th/newboi/index.php?page=head_office 

         เกี่ยวกับการขอส่งเสริมการลงทุนติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ เราจะติดต่อหน่วยงาน ภายใต้สังกัดของ บีโอไอ ซึ่งแบ่งเป็น กองบริหารการลงทุนที่ 1 - 5 ซึ่งแต่ละกองก็จะแบ่งแยกงานจาก ประเภทกิจการของผู้ยื่นคำขอฯ ดังนี้

          กองบริหารการลงทุนที่ 1  เกษตร เทคโนโลยีชีวิภาพ และการแพทย์ ( Food & Agriculture )

          กองบริหารการลงทุนที่ 2  อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

          กองบริหารการลงทุนที่ 3  อุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมสนับสนุน ( Advanced Materials )

          กองบริหารการลงทุนที่ 4  บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ( Logistics & Supply Chain Management )

          กองบริหารการลงทุนที่ 5  กิจการสร้างสรรค์และดิจิทัล ( Creative (Fashion & Lifestyle Products) )

     

ก็เป็นอันจบการสรุป เกี่ยวกับการขอส่งเสริมการลงทุน จาก บีโอไอ  ทั้งนี้บทความนี้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น รายละเอียดในการขอการส่งเสริมฯ ขอให้ติดต่อโดยตรงกับ บีโอไอ ซึ่งในปัจจุบันให้บริการได้อย่างดี รวดเร็ว ชัดเจน และมีไมตรีจิตร สมกับเป็นไทยแลนด์ 4.0 นะออเจ้า... พี่หมื่นขอบอก...